5 ตุลาคม “วันนวัตกรรมแห่งชาติ”
เมื่อ 29 ปีที่แล้ว ในวันจันทร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2535 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จฯ ทอดพระเนตรการดำเนินงานโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ จ.นราธิวาส ได้พระราชทานพระราชดำรัสกับ น.ต.กำธน สินธวานนท์ องคมนตรี, นายจุลนภ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา องคมนตรี, นายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการ กปร. และเจ้าหน้าที่กรมชลประทาน ดังนี้
“…โครงการแกล้งดินนี้เป็นเหตุผลอย่างหนึ่งที่พูดมา 3 ปีแล้ว หรือ 4 ปีกว่าแล้ว ต้องการน้ำสำหรับมาให้ดินทำงาน ดินทำงานแล้วดินจะหายโกรธ อันนี้ไม่มีใครเชื่อ แล้วก็มาทำที่นี่แล้วมันได้ผล ดังนั้น ผลงานของเราที่ทำที่นี่เป็นงานสำคัญที่สุด เชื่อว่าชาวต่างประเทศเขามาดูเราทำอย่างนี้แล้วเขาก็พอใจ เขามีปัญหาแล้วเขาก็ไม่ได้แก้ หาตำราไม่ได้…”
“… โครงการปรับปรุงดินเปรี้ยวควรดำเนินการต่อไปในแง่ของการศึกษาทดลองและการขยายผลการทดลองต้องดูอย่างนี้ ทิ้งดินเอาไว้ปีหนึ่งแล้วจะกลับเปลี่ยนหรือเปล่า เพราะว่าความเปรี้ยวมันเป็นชั้นดิน ดินที่เป็นซัลเฟอร์ (Sulfer) แล้วก็ถ้าเราเปิดให้มีน้ำ อากาศลงไป ให้เป็นซัลเฟอร์ออกไซด์ ซึ่งซัลเฟอร์ออกไซด์เอาน้ำเข้าไปอีกที ไปละลายซัลเฟอร์ออกไซด์ก็กลายเป็นใส่ออกไซด์ลงไป ก็เป็นกรดซัลฟุริก (Sulfuric) แต่ถ้าสมมุติว่าเราใส่อยู่ตลอดเวลา ชั้นดินที่เป็นซัลเฟอร์นั้นถูกกันไว้ไม่ให้โดนออกซิเจนแล้วตอนนี้ไม่เพิ่ม…ไม่เพิ่ม Acid โดยหลักการเป็นอย่างนั้น แต่หากว่าต่อไปในแปลงต่าง ๆ เพิ่มการทดลองอีก เมื่อได้แล้วทิ้งไว้มันจะกลับไปสู่สภาพเดิมหรือไม่ แล้วเมื่อความเป็นกรดเพิ่มขึ้นใหม่ จะพัฒนาให้กลับคืนมาสู่สภาพนี้ได้ ต้องใช้เวลา อาจจะใช้เวลาสักปี ดูสภาพว่าปีไหนไม่ได้ใช้ ดินมันจะเสื่อมลงไปเท่าไรแล้วจะกลับคืนมาเร็วเท่าไร…”
“….งานทดลองนี้เหมือนเป็นตำรา ควรทำเป็นตำราที่จะนำไปใช้ในพื้นที่ดินเปรี้ยวอื่น ๆ ในพื้นที่อื่นอาจจะไม่ต้องมีการแบ่งเป็นแปลงย่อยเช่นนี้ คันดินที่สร้างเพื่อกั้นน้ำก็อาจจะใช้คลอง ชลประทานสร้างถนน สะพาน การศึกษาจึงต้องทำแบบนี้…”
จากพระราชดำริให้ดำเนินโครงการ “แกล้งดิน” และจากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ดังกล่าว วิธีการแก้ไขตามแนวพระราชดำริ สภาพพื้นที่ทางภาคใต้ที่มีสภาพเป็นดินเปรี้ยวจัด ทำการเพาะปลูกไม่ได้ เนื่องจากมีกรดกำมะถัน อันเป็นสาเหตุของดินเปรี้ยวอยู่มาก ก็คือ การใช้กรรมวิธี “แกล้งดิน” เป็นการทำดินให้เปรี้ยวด้วยการทำให้ดินแห้งและเปียกสลับกันเพื่อเร่งปฏิกิริยาทางเคมีของดินให้มีความเป็นกรดจัดมากขึ้นจนถึงที่สุด จากนั้นจึงมีการทดลองปรับปรุงดินเปรี้ยวโดยวิธีการต่าง ๆ กัน เช่น โดยการควบคุมระบบน้ำใต้ดินเพื่อป้องกันการเกิดกรดกำมะถัน การใช้วัสดุปูนผสมประมาณ 1-4 ตันต่อไร่ การใช้น้ำชะล้างจนถึงการเลือกใช้พืชที่จะเพาะปลูกในบริเวณนั้น และทำการศึกษาวิเคราะห์ เพื่อหาวิธีปรับปรุงดินเปรี้ยวให้สามารถกลับมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่
“โครงการแกล้งดิน” จึงเป็นโครงการที่มีความเป็นนวัตกรรมโดยใช้เทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาดินเปรี้ยวในประเทศเขตร้อน และยังไม่มีที่ใดในโลกที่ใช้วิธีการดำเนินงานในลักษณะดังกล่าว และนำมาทำเป็นตำราเผยแพร่ แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการเป็น “นวัตกร” อย่างแท้จริง ทั้งนี้ แนวพระราชดำริได้เน้นให้เห็นถึงการประสมประสานนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีควบคู่กับนวัตกรรมด้านการบริหารจัดการจนได้วิธีที่เหมาะสมในการแก้ไขดินเปรี้ยวได้ ทำให้บริเวณพื้นที่ดินที่เปล่าประโยชน์และไม่สามารถทำอะไรได้ กลับฟื้นคืนสภาพที่สามารถทำการเพาะปลูกได้อีกครั้งหนึ่ง
เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในโอกาสพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี และรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถด้านนวัตกรรม โดยการใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหาสภาพดินเปรี้ยว ให้สามารถใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2549 ให้ดำเนินโครงการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ดังนี้
– เทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็น “พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย” จากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ “แกล้งดิน” ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส
– ให้วันที่ 5 ตุลาคม ของทุกปี เป็น “วันนวัตกรรมแห่งชาติ”